เอดีบีหั่นคาดการณ์ศก.ชาติกำลังพัฒนาในเอเชีย หลายปัจจัยลบรุมเร้า

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

ซึ่งรวมถึงจีน ไทย และฟิลิปปินส์ทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้จะยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งรวมถึงจีน ไทย และฟิลิปปินส์ทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้จะยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งนโยบายควบคุมโควิด-19 ของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

ทั้งนี้ เอดีบี เปิดเผยรายงาน “Asia Development Outlook” ในวันนี้ (14 ธ.ค.) โดยระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะลดลงมาอยู่ที่ 4.2% ในปี 2565 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.3% และนับเป็นครั้งที่ 5 ที่เอดีบีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้

ธุรกิจมีอะไรบ้าง

นอกจากนี้ เอดีบี ยังปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2566 ลงสู่ระดับ 4.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.9%

เอดีบี ระบุว่า เศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 3% ในปี 2565 และ 4.3% ในปี 2566 ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.3% และ 4.5% ตามลำดับ

“กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจีนยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาด และการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์” เอดีบี ระบุ

สำหรับประเทศไทยนั้น เอดีบีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 3.2% จากระดับ 2.9% แต่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 ลงเหลือ 4.0% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.2%

ขณะเดียวกัน เอดีบีได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลางในปี 2565 แต่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกทั้งในปี 2565 และ 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มอ่อนแอลง

ส่วนในด้านเงินเฟ้อ เอดีบี ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียลงเหลือ 4.4% ในปี 2565 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.5% และคาดว่าเงินเฟ้อในปี 2566 จะอยู่ที่ 4.2%

นอกจากนี้ เอดีบีเตือนว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียยังคงเผชิญกับความเสี่ยง เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับมาพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง รวมทั้งเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน